วันมาฆบูชา ประวัติความเป็นมาและความสำคัญ
วันมาฆบูชา
เป็นวันสำคัญของชาวพุทธเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย
ความหมายของวันมาฆบูชา
คำว่า "มาฆะ" นั้น เป็นชื่อของเดือน 3 ย่อมาจากคำว่า "มาฆปูรณมีบูชา" หมายถึง การบูชาพระในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะตามปฏิทินฮินดู หรือเดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติไทย (ตกช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม) ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน 8 สองหน (ปีอธิกมาส) ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 3 หลัง (วันเพ็ญเดือน 4)
ประวัติความเป็นมาและความสำคัญของวันมาฆบูชา
วันมาฆบูชา ได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง "โอวาทปาติโมกข์" แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้มาแล้วเป็นเวลา 9 เดือน ซึ่งหลักคำสอนนี้เป็นหลักการ และวิธีการปฏิบัติต่าง ๆ หากสรุปเป็นใจความสำคัญ จะมีเนื้อหาว่า "ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์"
วันมาฆบูชา ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นพร้อม ๆ กันถึง 4 ประการ อันได้แก่
- วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์
- มีพระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
- พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา 6
- พระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า หรือ "เอหิภิกขุอุปสัมปทา"
และเพราะเกิดเหตุอัศจรรย์ 4 ประการข้างต้น ทำให้วันมาฆบูชา เรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" ซึ่งคำว่า "จาตุรงคสันนิบาต" นี้ มีความหมายตามการแยกศัพท์คือ
- จาตุร แปลว่า 4
- องค์ แปลว่า ส่วน
- สันนิบาต แปลว่า ประชุม
ดังนั้น "จาตุรงคสันนิบาต" จึงหมายความว่า "การประชุมด้วยองค์ 4" นั่นเอง
ทั้งนี้วันมาฆบูชา ถือว่าเป็นวันพระธรรม ขณะที่วันวิสาขบูชา ถือว่าเป็นวันพระพุทธ ส่วนวันอาสาฬหบูชา เป็นวันพระสงฆ์
----------------------------------------------------------------
โอวาทปาติโมกข์
โอวาทปาฏิโมกข์ เป็นหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา เป็น "ปาติโมกข์" ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงตลอดปฐมโพธิกาล คือ 20 พรรษาแรก เฉพาะครั้งแรกในวันเพ็ญเดือนมาฆะ (เดือน 3) หลังจากตรัสรู้แล้ว 9 เดือน เป็นการแสดงปาติโมกข์ที่ประกอบด้วยองค์ 4 เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต ซึ่งมีเพียงครั้งเดียวในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งๆ
บทโอวาทปาติโมกข์
- สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง, การไม่ทำบาปทั้งปวง อาการทั้งปวง,
- กุสะลัสสูปะสัมปะทา, การทำกุศลให้ถึงพร้อม,
- สะจิตตะปะริโยทะปะนัง, การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ,
- เอตัง พุทธานะสาสะนัง, ธรรม ๓ อย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย,
- ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา, ขันติ คือความอดกลั้น เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง,
- นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา, ผู้รู้ทั้งหลาย กล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอันยิ่ง,
- นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี, ผู้กำจัดสัตว์อื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเลย,
- สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต, ผู้ทำลายสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย,
- อะนูปะวาโท อะนูปะฆาโต, การไม่พูดร้าย, การไม่ทำร้าย,
- ปาติโมกเข จะ สังวะโร, การสำรวมในปาติโมกข์,
- มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง, ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค,
- ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง, การนอน การนั่ง ในที่อันสงัด,
- อะธิจิตเต จะ อาโยโค, ความหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง,
- เอตัง พุทธานะสาสะนัง, ธรรม ๖ อย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย,
กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติในวันมาฆบูชา
วันมาฆบูชา พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า และตลอดวันจะมีการบำเพ็ญบุญกุศลความดีอื่น ๆ เช่น ไปวัดรับศีล งดเว้นการทำบาปทั้งปวง ถวายสังฆทาน ให้อิสระทาน (ปล่อยนกปล่อยปลา) ฟังพระธรรมเทศนา และไปเวียนเทียนรอบโบสถ์ในเวลาเย็น
โดยก่อนทำการเวียนเทียนพุทธศาสนิกชนควรร่วมกัน ปฏิบัติภาวนา ใน วันพระอุโบสถ ซึ่งเป็น หน้าที่ ตามปกติของชาวพุทธ กล่าวคำสวดมนต์และคำบูชาในวันมาฆบูชา โดยปกติตามวัดต่าง ๆ จะจัดให้มีการทำวัตรสวดมนต์ก่อนทำการเวียนเทียน ซึ่งส่วนใหญ่นิยมทำการเวียนเทียนอย่างเป็นทางการ (โดยมีพระภิกษุสงฆ์นำเวียนเทียน) ในเวลาประมาณ 20 นาฬิกา โดยบทสวดมนต์ที่พระสงฆ์นิยมสวดในวันมาฆบูชาก่อนทำการเวียนเทียนนิยมสวด (ทั้งบาลีและคำแปล) ตามลำดับดังนี้
- บทบูชาพระรัตนตรัย (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อรหัง สัมมา ฯลฯ)
- บทนมัสการนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า (นะโม ฯลฯ ๓ จบ)
- บทสรรเสริญพระพุทธคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อิติปิโส ฯลฯ)
- บทสรรเสริญพระพุทธคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:องค์ใดพระสัมพุทธ ฯลฯ)
- บทสรรเสริญพระธรรมคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:สวากขาโต ฯลฯ)
- บทสรรเสริญพระธรรมคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:ธรรมมะคือ คุณากร ฯลฯ)
- บทสรรเสริญพระสังฆคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:สุปฏิปันโน ฯลฯ)
- บทสรรเสริญพระสังฆคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:สงฆ์ใดสาวกศาสดา ฯลฯ)
- บทสวดบูชาเนื่องในวันมาฆบูชา (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อัชชายัง ฯลฯ)
จากนั้นจุดธูปเทียนและถือดอกไม้เป็นเครื่องสักการบูชาในมือ แล้วเดินเวียนรอบปูชนียสถาน 3 รอบ โดยขณะที่เดินนั้นพึงตั้งจิตให้สงบ พร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณ ด้วยการสวดบทอิติปิโส (รอบที่หนึ่ง) ระลึกถึงพระธรรมคุณ ด้วยการสวดสวากขาโต (รอบที่สอง) และระลึกถึงพระสังฆคุณ ด้วยการสวดสุปะฏิปันโน (รอบที่สาม) จนกว่าจะเวียนจบ 3 รอบ จากนั้นนำธูปเทียนดอกไม้ไปบูชาตามปูชนียสถานจึงเป็นอันเสร็จพิธี
----------------------------------------------------------------
วันมาฆบูชาในปฏิทินสุริยคติ
ปี | วันที่ | วันที่ | วันที่ |
ปีชวด | 4 มีนาคม พ.ศ. 2539 | 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 | 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 |
ปีฉลู | 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 | 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 | 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 |
ปีขาล | 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 | 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 | 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 |
ปีเถาะ | 1 มีนาคม พ.ศ. 2542 | 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 | 6 มีนาคม พ.ศ. 2566 |
ปีมะโรง | 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 | 7 มีนาคม พ.ศ. 2555 | 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 |
ปีมะเส็ง | 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 | 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 | 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 |
ปีมะเมีย | 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 | 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 | 4 มีนาคม พ.ศ. 2569 |
ปีมะแม | 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 | 4 มีนาคม พ.ศ. 2558 | 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2570 |
ปีวอก | 5 มีนาคม พ.ศ. 2547 | 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 | 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2571 |
ปีระกา | 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 | 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 | 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2572 |
ปีจอ | 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 | 1 มีนาคม พ.ศ. 2561 | 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2573 |
ปีกุน | 3 มีนาคม พ.ศ. 2550 | 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 | 8 มีนาคม พ.ศ. 2574 |
----------------------------------------------------------------
#วันมาฆบูชา #มาฆบูชา#ศาสนา #ศาสนาพุทธ #วันสำคัญ #วันสำคัญทางพระพุธศาสนา #วันหยุด #วันจาตุรงคสันนิบาต #จาตุรงคสันนิบาต #วันพระธรรม